ลูกชอบเรียกร้องความสนใจ : พ่อแม่ไม่รู้จะรับมืออย่างไรดี

Last updated: 16 ก.พ. 2566  |  2239 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ลูกชอบเรียกร้องความสนใจ : พ่อแม่ไม่รู้จะรับมืออย่างไรดี

ลูกชอบเรียกร้องความสนใจ : พ่อแม่ไม่รู้จะรับมืออย่างไรดี

ลูกชอบเรียกร้องความสนใจ


อาการ ลูกชอบเรียกร้องความสนใจ มักเกิดขึ้นเมื่อลูกเติบโตมากพอที่จะมีอารมณ์และความต้องการ แต่ยังไม่สามารถอธิบายความรู้สึกเหล่านั้นออกมาเป็นคำพูดได้ จึงแสดงออกทางพฤติกรรม เช่น ร้องไห้ ขว้างปาสิ่งของ ตะโกน หรือแสดงความก้าวร้าวเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่และคนรอบข้างให้ความสนใจ และตอบสนองความต้องการให้เร็วที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กเล็ก—วัยที่ตื่นเต้นกับการเรียนรู้เรื่องราวรอบตัว หากรู้สึกว่าไม่ได้รับความรักความสนใจ หรือการตอบสนองจากคุณพ่อคุณแม่เท่าที่ควร ก็อาจแสดงพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจออกมาได้ หากคุณพ่อคุณแม่ละเลยหรือปล่อยให้ ลูกชอบเรียกร้องความสนใจ ด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสมต่อไป อาจส่งผลต่อพฤติกรรมและพัฒนาการด้านอื่นของลูก เช่น ใจร้อน เอาแต่ใจ ไม่รู้จักปรับตัว หรือยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางต่อไปได้

จึงรวบรวมวิธีที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รับมือเมื่อลูกแสดงพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจที่เหมาะสมมาฝากกันค่ะ

1. หาสาเหตุว่าทำไมลูกถึงต้องเรียกร้องความสนใจ
เด็กเล็กเป็นช่วงวัยที่มีการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นเมื่อลูกมีพฤติกรรมชอบเรียกร้องความสนใจ อาจเกิดจากการที่ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่รักไม่สนใจลูกมากพอ หรือคุณพ่อคุณแม่อาจมีพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจลูก เช่น คุณแม่ทำงานมากเกินไป จนไม่มีเวลาเล่นหรือหันมายิ้มให้ลูก หรือครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน อาจจะลืมให้ความสำคัญกับลูกแต่ละคนโดยเท่าเทียมกัน ทำให้ลูกรู้สึกว่าได้รับความรักและความเอาใจใส่น้อยกว่าลูกคนอื่น ก็จะกระตุ้นให้ลูกแสดงพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจออกมาได้

2. กำหนดขอบเขตสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้
เด็กบางคนอาจจะเคยชินกับการได้รับการเอาอกเอาใจจากคุณพ่อคุณแม่ ทำให้เวลาที่ถูกขัดใจหรือไม่ได้รับในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ก็จะแสดงพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจออกมา เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่รีบตอบสนองหรือตามใจเหมือนทุกครั้ง

ดังนั้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ ไม่ใช่การดุหรือลงโทษรุนแรง แต่ควรกำหนดแนวทางหรือขอบเขตการแสดงออก หรือวิธีที่จะบอกให้คุณพ่อคุณแม่รู้ความต้องการของลูกได้อย่างเหมาะสม เช่น ตกลงกันว่า เมื่อไหร่ที่ลูกรู้สึกว่าคุณแม่ทำงานหรือใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไป สิ่งที่ลูกควรทำคือการเรียกหรือพูดกับคุณแม่ สิ่งที่ไม่ควรทำเลยก็คือตีหรือใช้ความรุนแรงกับคุณแม่ แย่งโทรศัพท์ในมือคุณแม่ และเมื่อมีการกำหนดข้อตกลงแล้ว คุณแม่ก็ควรยึดมั่นกับข้อตกลงนั้นๆ ด้วยนะคะ

3. สอนให้ลูกรู้จักและเข้าใจเหตุผล
คุณพ่อคุณแม่อาจจะรู้สึกว่าเด็กเรียกร้องความสนใจ เป็นเด็กที่ไม่มีเหตุผล แต่ความจริงแล้ว ลูกมักจะมีเหตุผลในแบบของตัวเองที่ไม่สามารถพูดหรืออธิบายให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจได้ เพราะทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์ของลูกยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรอดทน ใจเย็น และสอนให้ลูกรู้จักวิธีอธิบายเหตุผลของตัวเอง รวมทั้งสอนให้ลูกรู้ว่าการบอกเหตุผลจะทำให้คนอื่นเข้าใจลูกได้ดีกว่าการแสดงอาการเรียกร้องความสนใจเสียอีก

4. อย่าลืมแสดงความรักอยู่เสมอ
พฤติกรรมเรียกร้องความสนใจของลูก เกิดจากความต้องการให้คุณพ่อคุณแม่หันมาสนใจ เอาใจใส่ ให้ความรัก และให้เวลาที่มีคุณภาพกับเขา ดังนั้น หนึ่งในวิธีการรับมือและแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ทำให้ลูกรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว หรือไม่มีใครให้ความสำคัญ ด้วยการแสดงความรัก ชวนลูกพูดคุย โอบกอด และบอกรักกันอยู่เสมอนะคะ




อ้างอิง

A Fine Parent
Psych Central
manarom

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้