อาการท้องไม่รู้ตัว เป็นไปได้จริงหรือ!

Last updated: 3 เม.ย 2566  |  1310 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อาการท้องไม่รู้ตัว เป็นไปได้จริงหรือ!

  • ไม่ทันได้สังเกตอาการผิดปกติของร่างกายที่เกิดขึ้นได้เมื่อตั้งครรภ์

      อาการที่แสดงออกว่ากำลังท้องหรือกำลังตั้งครรภ์ของว่าที่คุณแม่แต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป โดยในช่วงระยะสัปดาห์แรกนั้น ว่าที่คุณแม่บางคนนั้นอาจไม่มีอาการแสดงออกเลยจนไม่ได้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเลยไม่รู้ตัวว่าตั้งท้อง ในบางรายอาจจะคิดไปว่าตัวเองอ้วนขึ้นจึงทำให้ไม่เกิดความสงสัยว่ากำลังตั้งท้อง นอกจากนี้ในแม่ท้องบางคนอาจไม่มีอาการแพ้ใด ๆ หรือมีอาการเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยจนทำให้คิดว่าเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ความเครียด โรคกระเพาะ หรือว่าพักผ่อนน้อย จึงไม่ได้คิดว่าตนเองตั้งครรภ์ ซึ่งอาการแพ้ท้องต่าง ๆ นั้นจะเกิดขึ้นเพียงช่วง 3-4 เดือนแรกแล้วก็หายไป หรือในระยะอายุครรภ์ 4-5 เดือนแรก ที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะรู้สึกได้ว่าลูกในท้องดิ้นหรือมีการขยับตัว แต่กับคุณแม่ท้องบางรายที่ไม่เคยมีลูกมาก่อนอาจไม่รู้สึกถึงอาการของลูกดิ้นในท้อง หรือเข้าใจว่าเป็นอาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ปัญหาลำไส้ ยิ่งไม่มีอาการอื่นแทรกซ้อน จึงไม่คิดว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ทั้งนี้จึงสามารถเป็นไปได้ว่าตลอด 8-9 เดือนคุณแม่อาจจะไม่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ กว่าจะรู้ตัวอีกทีเมื่อมีอาการเจ็บท้องคลอดก็เป็นได้

  • ประจำเดือนที่ขาดไป

    แม้ว่าประจำเดือนขาด ไม่มาตามรอบเดือนปกติ จะเป็นอาการเริ่มแรกที่บ่งบอกได้ว่ามีการตั้งครรภ์ แต่ประจำเดือนไม่มาก็ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์เสมอไป อาจมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ประจำเดือนไม่มาตามปกติได้ เช่น น้ำหนักตัวที่ลดลงมากจนเกินไป ความผิดปกติของฮอร์โมน เหนื่อยล้าหรือความเครียด รวมถึงการกินยาคุมกำเนิด เป็นต้น ทั้งนี้การไม่สังเกตหรือไม่ได้ใส่ใจกับการเปลี่ยนแปลงของตัวเองว่าประจำเดือนไม่มาอาจไม่มีความผิดปกติใดใด หรือบางคนที่มีปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติอยู่แล้ว เช่น มีภาวะประจำเดือนขาด ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอหรือมาช้าอยู่แล้ว จึงไม่ทันได้คิดว่าตัวเองตั้งท้อง

  • ขนาดท้องที่เล็กมาก

    ว่าที่คุณแม่บางรายเมื่อตั้งท้องแล้วมีขนาดของท้องที่โตขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีอาการหน้าท้องขยายเหมือนคนท้อง จึงดูไม่ออกหรือคิดว่ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น หรือคิดไปว่าเป็นเพราะกินมากไปจนทำให้น้ำหนักขึ้น อ้วนขึ้น หรือบางรายเป็นคนอ้วนอยู่แล้วจึงทำให้ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังท้องก็เป็นได้

  • ใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์แต่ไม่พบว่าท้อง

      เมื่อรู้สึกว่ามีอาการแปลก ๆ หรือสัญญาณผิดปกติของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การตั้งครรภ์ การเช็กว่าท้องด้วยตนเองจากชุดทดสอบการตั้งครรภ์ก็จะทำให้รู้ได้แน่ชัดขึ้นกว่าเดิมว่าท้องหรือไม่ท้อง ซึ่งวิธีนี้จะมีความแม่นยำมากถึง 90% แต่ในบางกรณีก็อาจตรวจพบค่าที่แสดงผลลบ คือขึ้น 1 ขีดที่ขีด C เพียงอย่างเดียว หมายความว่าไม่มีการตั้งครรภ์ หรือมีการตั้งครรภ์แล้วแต่ตรวจไม่พบก็อาจเป็นไปได้เหมือนกัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ทำการทดสอบครรภ์ที่เร็วเกินไป การทิ้งชุดตรวจครรภ์ไว้นานทำให้ประสิทธิภาพในการตรวจลดลง การดื่มน้ำเยอะทำให้ระดับฮอร์โมน hCG ในปัสสาวะลดลงมีผลต่อการตรวจคลาดเคลื่อนได้ หรือมีความเครียดจัด เป็นต้น ในกรณีที่ไม่มีขีดใดขึ้นเลย แสดงว่าที่ตรวจครรภ์เสีย หมดอายุ หรือเกิดข้อผิดพลาดในขั้นตอนการเก็บปัสสาวะ และไม่ได้ตรวจซ้ำอีกหลังจากนั้น จึงอาจเข้าใจได้ว่าไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นนั่นเอง

  • จะรู้ตัวได้อย่างไรว่ากำลังตั้งครรภ์?

มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายรวมไปถึงอารมณ์หลายอย่างที่บ่งบอกว่ากำลังตั้งครรภ์ หากว่าที่คุณแม่ได้สังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ อาทิเช่น
– ประจำเดือนที่ขาดไป สำหรับว่าที่คุณแม่ที่มีประจำเดือนมาปกติ หากรอบเดือนนั้นไม่มาก็เป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์ได้ชัดเจนที่สุด
– มีเลือดออกจากทางช่องคลอดเล็กน้อย แต่สีจางกว่าเลือดประจำเดือน
– อาการแพ้ท้อง เกิดขึ้นได้กับแม่ที่กำลังตั้งครรภ์แต่ก็ไม่ใช่เกิดขึ้นกับทุกคนเสมอไป บางคนมีอาการแพ้ท้องเล็กน้อยในช่วงแรก ๆ บางคนไม่มีอาการแพ้ท้องเลย โดยอาการแพ้ท้องสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลา แต่โดยส่วนมากแล้วจะเกิดขึ้นในช่วงเช้า
– รู้สึกหิวบ่อยขึ้น มีความอยากอาหารหรือหิวอีกทั้ง ๆ ที่เพิ่งรับประทานอาหารไปไม่นาน หรือบางรายไม่รู้สึกเบื่ออาหาร ไม่อยากกินอาหาร หรือไม่สามารถกินอาหารบางอย่างได้ในระหว่างตั้งครรภ์แม้ว่าจะเป็นอาหารที่เคยชอบมากก็ตาม
– รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย
– รู้สึกไม่สบายตัว เพลียง่าย มีอาการคลื่นไส้พะอืดพะอม แต่ไม่ขั้นอยากอาเจียน
– หน้ามืด เป็นลมได้ง่าย เนื่องจากการขยายตัวของหลอดเลือด ความดันเลือดต่ำลง หรือระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
– มีอาการเจ็บหน้าอก คัดเต้า สีบริเวณหัวนมเปลี่ยนไปเป็นสีคล้ำขึ้น เต้านมขยายใหญ่ขึ้นกว่าปกติ และมีความรู้สึกหัวนมไวต่อสัมผัสเป็นพิเศษ
– รู้สึกรับรสผิดปกติ เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปจะรู้สึกถึงรสชาติแปลกไปจากเดิมที่เคยกิน
– มีอาการปวดหลัง ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยปวดมาก่อน
– รู้สึกไวต่อกลิ่นอาหารเป็นพิเศษ ทั้งที่ปกติไม่เคยเป็น บางครั้งเหม็นจนทนไม่ไหวทำให้รู้สึกรู้สึกคลื่นไส้วิงเวียนศีรษะ
– อยากกินอาหารแปลก ๆ จากเดิม เช่น อยากกินเปรี้ยว ของหมักดอง ของที่มีรสเค็ม
– ท้องอืดง่าย เรอ แน่นท้องบ่อย
– ท้องผูก เนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ช้าลง
– อารมณ์แปรปรวน รู้สึกหงุดหงิด อ่อนไหวง่าย อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ มีความรู้สึกไวต่อสิ่งรอบข้าง ไวต่อคำพูด ทำให้กระทบกระเทือนจิตใจง่าย มีความวิตกกังวลมากกว่าปกติ

        อาการที่กล่าวมาเรียกได้ว่าเป็นอาการที่สามารถพบได้ในระยะแรกของการเริ่มตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่แต่ละคนจะมีอาการที่แสดงออกมาแตกต่างกัน บางคนอาจพบได้ทุกอาการที่กล่าวมา หรือบางคนอาจจะมีอาการเพียงแค่ 1 หรือ 2 อาการก็ได้ ซึ่งในบางอาการก็อาจทำให้ไม่รู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ “อาการท้องไม่รู้ตัว” สำหรับว่าที่คุณแม่จึงอาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงการตั้งครรภ์ในแต่ละครั้งก็อาจจะมีการแสดงอาการที่ไม่เหมือนกันเช่นกัน ดังนั้นเพื่อป้องเหตุการณ์ที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังท้อง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ทั้งคุณแม่และลูกน้อย ในกรณีที่วางแผนมีลูกและมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ว่าที่คุณแม่ควรหมั่นสังเกตว่าพบการเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติของร่างกายที่เปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ หากมีอาการคล้ายคนท้องแต่ไม่แน่ใจก็สามารถตรวจเช็กด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์หรือไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายเพื่อความชัดเจน

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ท้องแรกทั้งทางร่างกายและอารมณ์อาจทำให้คุณแม่ต้องเกิดการปรับตัวเองและดูแลใส่ใจตัวเองให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อส่งผลดีต่อทารกน้อยในครรภ์ เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ควรรีบทำการฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ ซึ่งหากพบว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจเกินจนรับมือไม่ไหว ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาหรือรับการรักษาวิธีในการบรรเทาอาการต่าง ๆ ลงได้นะคะ

 

อ้งอิง : https://www.bccgroup-thailand.com/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99/

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้