ลูกก้าวร้าวมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร

Last updated: 18 เม.ย 2566  |  118 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ลูกก้าวร้าวมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร

สำหรับการช่วยเหลือขณะเด็กเกิดปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ได้แก่

1. สื่อให้เด็กรู้ว่า ผู้ใหญ่ยอมรับอารมณ์ความรู้สึกของเค้าแต่ไม่ยอมรับพฤติกรรมก้าวร้าว และแนะให้เด็กแสดงออกทางอื่นที่เหมาะสมกว่า เช่น แม่พูดว่า “แม่รู้ว่าหนูโกรธ แต่หนูจะใช้วิธีทำลายข้าวของแบบนี้ไม่ได้ ถ้าหนูโมโหมาก ต้องไประบายอารมณ์ทางอื่นแทน หนูจะขว้างปาหมอน หรือทุบตีตุ๊กตาก็ได้”

2. ถ้าเห็นว่าการกระทำของเด็กรุนแรง มีการทำลายข้าวของ เสียหายหรืออาจเกิดอันตราย ผู้ใหญ่อาจจำเป็นต้องเข้าจัดการทันที โดยการจับเด็กไว้ หรือกอดไว้เพื่อระงับเหตุ

3. ผู้ใหญ่ต้องรับฟังเด็ก ให้โอกาสเด็กอธิบายเล่าเหตุการณ์โดยไม่ด่วนสรุปว่าเขาผิด บางครั้งเด็กต้องการเพียงการรับฟังจากผู้ใหญ่บ้าง

4. เมื่อเด็กสงบ ควรชี้แจงเหตุผลให้เด็กเข้าใจถึงสาเหตุที่ไม่ควรทำ ด้วยคำอธิบายที่กะทัดรัดชัดเจน

5. หลีกเลี่ยงคำพูด คำตำหนิ ที่ทำให้เกิดปมด้อย ถ้อยคำเช่น ว่าเด็กนิสัยไม่ดี เด็กดื้อ เด็กเกเร เด็กก้าวร้าว อันธพาล ถ้าจะตำหนิก็ตำหนิที่การกระทำ เช่น “แม่ไม่ชอบที่หนูเอาไม้ไปขว้างคุณปู่แบบนี้”

6. ให้เด็กรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองกระทำลงไป เช่น เก็บกวาดข้าวของที่เสียหายจากการอาละวาด ขอโทษผู้ใหญ่ งดค่าขนม งดดูทีวีหรือเล่นเกม เป็นต้น

การแก้ไขปรับพฤติกรรมเด็กเป็นงานยาก ต้องใช้ความอดทนพยายามและความสม่ำเสมอ แต่ถ้าทำได้สำเร็จก็ถือว่าคุ้มค่าเหนื่อย เพราะเราจะได้คนที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดี ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมไทยที่ต้องการความสงบและความสมานฉันท์เช่นในยุคสมัยนี้

 

มีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง?

    1. ในเด็กเล็กยังมีพัฒนาการด้านสติปัญญาและการเจริญเติบโตของสมองที่ยังไม่สมบูรณ์ ในขณะที่สมองส่วนอารมณ์พัฒนาได้เร็วกว่า การแสดงออกทางอารมณ์จึงชัดเจนกว่า ส่งผลให้เด็กควบคุมอารมณ์ การยับยั้งชั่งใจ และการรอคอยได้จำกัด

    2. หากเด็กมีความบกพร่องทางด้านสติปัญญา เด็กจะมีพัฒนาการล่าช้ากว่าปกติในทุกด้าน ส่งผลให้มีข้อจำกัดในการคิด การวางแผน การจัดการปัญหา การจัดการอารมณ์ ให้เหมาะสมตามวัย

    3. การมีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือ โรคหรืออุบัติเหตุทางสมอง เช่น ลมชัก สมองอักเสบ เนื้องอกในสมอง เคยมีเลือดออกในสมอง ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เป็นต้น ทำให้สมองทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ เกิดลักษณะอารมณ์แปรปรวนหรือมีการรับรู้ทางระบบประสาทที่ผิดปกติ

    4. โรคทางจิตเวช เช่น เด็กมีโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น เป็นต้น

    5. การไม่มีผู้ปกครองหรือครอบครัว สอนเรื่องการจัดการอารมณ์ของตนเองให้กับเด็ก หรือเด็กไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องการรู้จัก อดทน รอคอย

    6. ครอบครัวมีรูปแบบการแก้ปัญหาโดยใช้อารมณ์ในการพูด การกระทำ ทำให้เด็กเรียนรู้โดยอัตโนมัติ ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เครียดจะใช้การแก้ปัญหาโดยการแสดงอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมออกมา

    7. การเลียนแบบเพื่อน หรือสื่อต่างที่ไม่เหมาะสม มีความรุนแรง และการใช้สารเสพติด เป็นต้น

เมื่อลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร

    1. ผู้ปกครองหรือคนที่ดูแลเด็กต้องเข้าใจก่อนว่า มีเหตุการณ์หรือตัวกระตุ้นอะไรที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว และเหตุการณ์นั้นส่งผลหรือทำให้เด็กรู้สึกอย่างไร และคิดอย่างไรต่อเหตุการณ์

    2. พ่อแม่ต้องควบคุมจัดการอารมณ์ตนเองให้ได้ก่อน และรับฟังว่าลูกต้องการจะสื่อสารอะไรกับพ่อแม่ เช่น ต้องการให้พ่อแม่สนใจ ต้องการให้พ่อแม่ทำให้ลูกสบายใจขึ้น หรือต้องการระบายความรู้สึกอึดอัด หรือต้องการจะหนีจากเหตุการณ์ที่ไม่ต้องการขณะนั้น การที่พ่อแม่มีอารมณ์ที่สงบและนิ่งได้ก่อน จะสามารถแก้ไขปัญหา ได้...และเป็นตัวอย่างให้ลูกได้เห็นว่าเมื่อมีเหตุการณ์ที่เครียด พ่อแม่ก็สามารถนิ่งและมีสติให้ลูกเห็นได้

    3. ให้เวลากับลูกได้สงบสติและอารมณ์ในบรรยากาศที่สงบ แต่ถ้าพฤติกรรมค่อนข้างรุนแรง พ่อแม่ควรหยุดพฤติกรรมเหล่านั้น โดยการโอบกอดทางด้านหลังเพื่อไม่ให้ลูกทำร้ายตนเอง ผู้อื่น รวมไปถึงการทำลายสิ่งของ โดยใช้คำพูดว่า กำลังช่วยลูกให้สงบ เพราะลูกไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เมื่อลูกสามารถควบคุมอารมณ์ได้แล้ว พ่อแม่ควรใช้เวลาในการสอบถามความรู้สึกของลูก และแนะนำวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสม

    4. ในเวลาปกติทั่วไป สมาชิกในครอบครัวควรสร้างบรรยากาศที่ดี ร่วมทำกิจกรรมในครอบครัว มีบรรยากาศการรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน เพื่อให้เด็กมีโอกาสได้เล่าความรู้สึก และเล่าปัญหา เพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ไข

    5. มีการทำกติกาตกลงกันในครอบครัวว่าเมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น สามารถพูดคุยและเปิดเผยกันได้ โดยไม่มีการตำหนิหรือใช้อารมณ์

    6. ผู้ใหญ่ในครอบครัวควรปฏิบัติต่อเด็กเหมือนกันทุกคน เช่น ผู้ใหญ่คนหนึ่งให้เวลากับเด็กได้สงบก่อนเมื่อมีเด็กเริ่มแสดงอารมณ์ แต่ผู้ใหญ่อีกคนบังคับห้ามแสดงอารมณ์ออกมา อาจทำให้เด็กสับสนว่าเวลาโมโหควรจะทำอย่างไรดีที่สุด

    7. เมื่อผู้ปกครองเห็นถึงความตั้งใจของเด็กว่ามีความพยายามความอดทนที่จะจัดการอารมณ์ตนเอง ผู้ปกครองควรมีการชื่นชมให้กำลังใจ ถึงความตั้งใจ ความพยายามของเด็ก แม้บางครั้งยังจัดการอารมณ์หรือพฤติกรรมได้ไม่ดีนักก็ตาม  

อ้างอิง : https://www.phyathai.com/article_detail/2127/th/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7_%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3??branch=PYT2

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้