วิธีการเลือกขวดนมที่แม่ๆ ควรรู้!!!!

Last updated: 3 พ.ค. 2566  |  441 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วิธีการเลือกขวดนมที่แม่ๆ ควรรู้!!!!

 

วิธีการเลือกขวดนม

จากที่เราเกริ่นไปในตอนต้น คุณพ่อคุณแม่คงพอจะทราบแล้วว่าขวดนมมีหลายรุ่น แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์การใช้งาน คราวนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าลักษณะใดบ้างที่ตรงตามความต้องการใช้งาน

วัสดุที่ใช้ทำขวดนมมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ แก้วและพลาสติก โดยทั่วไปขวดนมมักจะผลิตจากพลาสติกที่ทนความร้อนได้ แต่ก็มีบางรุ่นที่เป็นขวดนมแบบแก้วเช่นกัน

ขวดนมแบบขวดแก้ว

ขวดนมแบบขวดแก้วมีข้อดี คือ ทนทานต่อการกระแทก ความร้อน ไม่เสียรูปทรงง่าย ล้างออกง่าย อีกทั้งยังปราศจากสารเคมีที่อาจละลายออกมาปนกับนมเมื่อได้รับความร้อน ลดการเกิดไบโอฟิล์มหรือคราบสกปรก รวมไปถึงรอยขีดข่วนที่อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ดีกว่าพลาสติก

ส่วนข้อเสียของขวดแก้วที่ต้องระวัง คือ น้ำหนักที่ค่อนข้างมาก อาจเกิดอุบัติเหตุ หรือตกแตกจนทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ ซึ่งขวดนมแก้วในปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผสมพลาสติก ทำให้น้ำหนักเบาขึ้น สามารถถือหรือเคลื่อนย้ายได้ง่าย และเพิ่มความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อลดโอกาสแตกร้าวของวัสดุค่ะ

ขวดนมพลาสติก

ขวดนมแบบพลาสติกเป็นที่แพร่หลายและได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีข้อดี คือ ราคาถูกกว่า หาซื้อง่าย มีสีสันสดใส น้ำหนักเบา และโอกาสที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือตกแตกน้อยกว่า ส่วนข้อเสียของขวดนมประเภทนี้ คือ เกิดไบโอฟิล์มและรอยขีดข่วนได้ง่าย เมื่อมีอายุการใช้งานมากขึ้น ขวดนมอาจเสียรูปทรง มีรอยรั่ว หรืออาจมีสารเคมีเจือปนออกมาเมื่อได้รับความร้อน

คำแนะนำของแพทย์ คือ เราควรเลือกขวดนมที่ทำจากวัสดุพลาสติก 3 ประเภทหลัก ๆ คือ Polypropylene (PP), PES (Polyethersulfone) และ PPSU (Polyphenylsulfone) เพราะด้วยคุณสมบัติทนความร้อนไม่ต่ำกว่า 110 องศาเซลเซียสและมีอายุใช้งานเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 6 เดือน จึงนิยมนำมาผลิตเป็นขวดนม และสิ่งสำคัญนอกเหนือไปจากนี้ คือ เราควรมองหาขวดนมพลาสติกที่ระบุว่าเป็น “BPA-FREE” เนื่องจาก BPA เป็นสารรบกวนการพัฒนาระบบประสาท ทำให้มีพัฒนาการและการเรียนรู้ที่ช้า และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ในเด็กค่ะ

เลือกขนาดขวดนมให้เหมาะกับอายุของเด็กและระยะเวลาการดูดนม

ขวดนมมีหลายขนาดด้วยกัน ขึ้นอยู่กับช่วงอายุของเด็ก ๆ โดยแบ่งออกเป็น 4 ขนาด ได้แก่ ไซซ์ SS-S (ความจุ 3 - 5 ออนซ์) สำหรับเด็กอ่อน 2 - 4 เดือน, ไซซ์ M (ความจุ 5 - 7 ออนซ์) สำหรับเด็กอายุ 4 - 6 เดือน และ ไซซ์ L (ความจุ 7 - 11 ออนซ์) สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ส่วนเด็กอายุมากกว่า 12 เดือน ควรเริ่มเลิกขวดนม เนื่องจากเด็กจะมีพัฒนาการสามารถดูดหลอดและหยิบแก้วดื่มเองได้


นอกจากอายุจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกแล้ว “ระยะเวลาการดูดนม” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรละเลย โดยปกติทารกอายุน้อยกว่า 3 เดือน จะใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 15 - 30 นาที และในทารก 3 เดือนขึ้นไป บางมื้ออาจดูดหมดภายใน 10 นาที แต่ถ้าหนู ๆ คนไหนทำสถิติได้เร็วกว่านั้นให้เลือกจุกนมที่ขนาดเล็กลงมา เพื่อป้องกันการสำลัก ในทางกลับกันถ้าดูดช้ามาก ให้เลือกจุกนมไซซ์ใหญ่ขึ้นอีกนิด ที่สำคัญคือ ไม่ควรชงนมในปริมาณมากเกินไปหรือชงเผื่อรับประทานหลายมื้อในขวดเดิมหรือเก็บไว้หลาย ๆ ขวด เพราะนมอาจเสีย บูด หรือมีสิ่งสกปรกเจือปนบริเวณจุกขวดก่อนถึงมื้อนมได้

เกร็ดความรู้: คุณแม่บางคนเข้าใจว่าการดื่มนมของหนู ๆ จะต้องดื่ม 3 เวลาเหมือนมื้ออาหารของผู้ใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วการให้แบบนั้นจะทำให้เด็กโหย แล้วเขาก็จะต้องการปริมาณนมที่เพิ่มขึ้นจนอาจมีน้ำหนักเกินได้ แนะนำให้เพิ่มจำนวนครั้งที่ให้ เพื่อกระตุ้นให้ลูกรู้สึกอิ่มไวขึ้นจะดีกว่า

เลือกขวดนมจากรูปร่างของจุกขวดนม

รูของจุกนมมีอยู่ 3 ลักษณะ ได้แก่ รูแบบกลม, รู 3 แฉก และรูแบบกากบาท ซึ่งแต่ละแบบมีคุณสมบัติแตกต่างกันดังนี้

1. แบบกลม นมจะไหลออกมาอย่างเป็นธรรมชาติและออกมาเป็นทางตรง เหมาะกับเด็กช่วงแรกเกิด

2. แบบ 3 แฉก ปริมาณของน้ำนมที่ไหลออกมาจะขึ้นอยู่กับแรงดูดของหนู ๆ เหมาะกับเด็กที่ดูดนมได้ในปริมาณน้อยเมื่อใช้แบบกลม

3. แบบกากบาท ปริมาณของน้ำนมที่ไหลออกมาจะมากกว่าแบบอื่น ๆ

หลักในการเลือกจุกนม คือ ผู้ปกครองควรเลือกขนาดจุกนมตามอายุ และความเร็วน้ำนมที่ไหลผ่านรูชนิดต่างๆ ให้เหมาะกับพัฒนาการการดูดกลืนของเด็ก โดยสามารถแบ่งได้ตามอายุ

หากเป็นเด็กแรกเกิด - 1 เดือนที่ยังมีแรงดูดน้อย ควรใช้จุกรูกลมเพราะนมสามารถไหลได้เองแม้ไม่ได้ออกแรงดูด และจะไหลแรงขึ้นหากออกแรง แต่ยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับจุกนมชนิดสามแฉกหรือกากบาท อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองไม่ควรใช้จุกนมชนิดสามแฉกหรือกากบาทสำหรับเด็กในวัยนี้ เพราะระบบการกลืนและจังหวะการหายใจทำงานยังไม่สัมพันธ์กันดี อาจทำให้เด็กสำลักได้ โดยขนาดที่เหมาะสม คือ ไซซ์ SS

เด็กอายุ 1 - 3 เดือน ควรใช้จุกรูกลมไซซ์ S ส่วนเด็กอายุ 3 - 6 เดือน ควรเลือกจุกนม 3 แฉกหรือแบบกากบาทจะเริ่มควบคุมจังหวะและมีแรงดูดที่มากขึ้น เพราะนมจะไหลได้เร็วมากขึ้น และลดจำนวนครั้งที่ต้องออกแรงดูด อีกทั้งยังช่วยให้นมหยุดไหลเมื่อไม่ได้ออกแรง ทำให้ทารกไม่กลืนอากาศส่วนเกิน ลดการเกิดท้องอืด แหวะนม และสำลักนม โดยขนาดที่เหมาะสม คือ ไซซ์ M สุดท้าย เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ควรใช้จุกนม 3 แฉกหรือกากบาทขนาดไซซ์ L

เลือกขวดนมที่รูปร่างทำความสะอาดง่าย ป้องกันการสะสมของแบคทีเรีย

 

รูปร่างของขวดนมมีผลต่อความยากง่ายในการทำความสะอาด ถ้าใครอยากเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ ให้ซื้อรุ่นที่รูปทรงค่อนข้างกว้างออกด้านข้างหรือมีปากขวดกว้าง เพราะจะช่วยให้สอดแปรงล้างขวดเข้าไปง่าย ยิ่งถ้าเป็นรุ่นที่ไม่มีร่องหรือรอยโค้งเว้า ยิ่งทำความสะอาดได้สะดวก นอกจากนี้ ยังช่วยให้ใส่นมผงลงไปถึงก้นขวดได้ง่ายอีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม ขวดนมแบบอื่น ๆ เช่น ขวดนมแบบแบนหรือขวดนมแบบขวดเรียว ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อดีเลยนะครับ ด้วยรูปร่างเช่นนี้ เวลาแพ็กใส่กระเป๋าจึงเปลืองพื้นที่น้อย เหมาะกับการพกพาไปดื่มนอกบ้าน ดังนั้น แนะนำให้มีทั้งสองแบบเลยจะดีกว่า ค่ะ


อ้างอิง: 10 อันดับ ขวดนม ยี่ห้อไหนดี ปี 2023 ปลอดภัย คอกว้าง กันโคลิค | mybest (my-best.in.th)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้