ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้

Last updated: 23 มิ.ย. 2566  |  366 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้


      ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดสามารถพบได้ในทารกทุกเชื้อชาติ สิ่งที่ทำให้ทารกดูตัวเหลืองนั้นเกิดจากสารที่เรียกว่า “บิลิรูบิน” ภายในร่างกาย ปกติแล้วบิลิรูบินจะถูกสร้างขึ้นในกระแสเลือดและกำจัดออกจากร่างกายโดยตับ ซึ่งเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ ขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์นั้น บิลิรูบินจะถูกกำจัดผ่านทางรกไปยังตับของมารดา เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว ตับของทารกต้องทำหน้าที่กำจัดบิลิรูบินด้วยตัวเอง แต่เนื่องจากตับของทารกแรกเกิดยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ในช่วง 2-3 วันแรก ดังนั้นทารกโดยทั่วไปจึงมีภาวะตัวเหลืองที่สังเกตได้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว


ภาวะตัวเหลืองเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่

1. ภาวะตัวเหลืองปกติ (Physiologic Jaundice)
          เกิดจากทารกที่อยู่ในครรภ์มารดามีความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงมากกว่า และเม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าของผู้ใหญ่ เมื่อเม็ดเลือดแดงของทารกแตกสลายและเปลี่ยนแปลงไปเป็นบิลิรูบินมากกว่าปกติจนเกินความสามารถในการกำจัดของร่างกาย เนื่องจากตับของทารกยังทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้การกำจัดบิลิรูบินด้วยตับยังไม่สมบูรณ์ เกิดการสะสมของสารบิลิรูบินขึ้นในร่างกาย หากทารกไม่มีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย สามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์

2. ภาวะตัวเหลืองผิดปกติเนื่องจากมีพยาธิสภาพ (Pathologic Jaundice)

          เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะหมู่เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน พบในคู่ที่แม่มีหมู่เลือดโอกับลูกมีหมู่เลือดเอหรือบี หรือคู่ที่แม่มีหมู่เลือด Rh ลบ และลูกมี Rh บวก ทารกที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง หรือภาวะเม็ดเลือดแดงขาดเอ็มไซม์ G6PD ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ ทารกมีเม็ดเลือดแดงจำนวนมากกว่าปกติ โดยเฉพาะทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นเบาหวาน

ความรุนแรงจากภาวะตัวเหลือง
         ถ้าระดับบิลิรูบินมากเกินไปจะผ่านเข้าสู่สมองไปจับที่เนื้อสมอง ทำให้สมองผิดปกติเรียกว่า เคอร์นิกเทอรัส (Kernicterus) ระยะแรกจะมีอาการซึม ตัวอ่อน และดูดนมไม่ดี ระยะต่อมาทารกจะซึมลง ตัวอ่อนมากขึ้น มีอาการกระสับกระส่าย ไข้ ร่องเสียงแหลม ตัวเกร็ง คอแอ่นไปด้านหลัง หลังแอ่น
          เมื่อมีอาการในระยะแรกๆ หากทารกได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือดโดยเร็วที่สุด อาจทําให้สมองไม่ถูกทําลายโดยถาวร ลดความรุนแรงของความพิการทางสมอง แต่หากไม่ได้รับการรักษาก็จะมีอาการจะรุนแรงขึ้น คอและหลังเกร็งแอ่นมากขึ้น ไม่ดูดนม ชัก หยุดหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้

ภาวะตัวเหลืองที่หายได้เอง
      ภาวะตัวเหลืองส่วนใหญ่จะดีขึ้นหลังทารกมีอายุ 1 สัปดาห์ และจะหายเหลืองภายในอายุ 1 เดือน
โดยมากแล้วภาวะนี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทารก ยกเว้นในกรณีที่ระดับบิลิรูบินสูงมากอาจมีผลต่อสมองของทารกได้ ทารกที่ได้รับนมไม่เพียงพอ มีน้ำหนักลดมาก มีโอกาสตัวเหลืองมากกว่าปกติ ดังนั้นการให้นมมารดาจึงควรให้อย่างน้อย 8-10 มื้อต่อวันในช่วงแรก เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มารดาสร้างน้ำนมได้มากขึ้น และช่วยลดอาการตัวเหลืองของทารก

การรักษาภาวะตัวเหลือง
ภาวะตัวเหลืองสามารถรักษาได้โดย

     1. การส่องไฟ (Phototherapy)
        โดยใช้หลอดไฟชนิดพิเศษให้แสงสีฟ้าที่มีความยาวคลื่นแสงที่เหมาะสมเท่านั้น ขณะส่องไฟ จะต้องถอดเสื้อผ้าทารก ปิดตา และแพทย์จะตรวจเลือดเพื่อดูระดับบิลิรูบินเป็นระยะๆ จนลดลงอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ผลเสียของการส่องไฟคือ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ น้ำหนักตัวลดลง เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำเพิ่มขึ้นจากการส่องไฟ ทั้งนี้ การนำบุตรไปตากแดดไม่สามารถ ช่วยลดระดับบิลิรูบิน หรือภาวะตัวเหลืองได้

     2. การเปลี่ยนถ่ายเลือด
        ในกรณีที่ค่าตัวเหลืองสูงเกินเกณฑ์ และรักษาโดยการส่องไฟแล้วค่าตัวเหลืองไม่ลดลง ก็มีความจำเป็นต้องป้องกันการเกิดภาวะสารเหลืองไปจับที่เนื้อสมอง ( kernicterus) จึงต้องมีการเปลี่ยนถ่ายเลือดทารก นำเลือดทารกที่มีบิลิรูบินสูงออกจากตัวเด็ก และเติมเลือดอื่นเข้าไปทดแทน จะทำในกรณีที่ระดับบิลิรูบินสูงมาก หรือทารกเริ่มมีอาการแสดงทางสมองเพื่อลดระดับบิลิรูบินอย่างรวดเร็ว

     3.แก้ไขที่สาเหตุของภาวะตัวเหลือง


วิธีการสังเกตลูกตัวเหลือง
      ทารกบางคนจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีตาและตัวเหลือง แต่ก็มีวิธีการสังเกตอย่างง่ายๆ คือการนำทารกไปอยู่ในห้องที่มีแสงสว่างพอ และควรเป็นแสงสีขาว ใช้นิ้วมือกดลงบนผิวหนังเด็กหรือใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้กดที่ผิวหนังพร้อมกับแยกออกจากกันเพื่อรีดเลือดออกจากหลอดเลือดฝอยบริเวณที่จะตรวจ สังเกตสีที่เกิดขึ้น ซึ่งปกติจะเห็นเป็นสีขาว แต่ถ้าเห็นเป็นสีเหลือง โดยเฉพาะถ้าเหลืองถึงขาหรือหน้าแข้ง ควรรีบพาทารกไปพบแพทย์

อ้างอิง : https://www.phyathai.com/



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้