วิธีอุ่นนมแม่ อุ่นยังไงให้ถูกต้อง และน้ำนมไม่เสียคุณภาพ

Last updated: 4 ก.ย. 2566  |  11581 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วิธีอุ่นนมแม่ อุ่นยังไงให้ถูกต้อง และน้ำนมไม่เสียคุณภาพ

วิธีอุ่นนมแม่ อุ่นยังไงให้ถูกต้อง และน้ำนมไม่เสียคุณภาพ

       การอุ่นนมแม่ คือ การนำเอาน้ำนมแม่ที่ปั๊มและเก็บไว้ในตู้เย็นหรือช่องแช่แข็งออกมาอุ่นให้ได้อุณหภูมิที่เหมาะสมก่อนที่จะให้ทารกได้กินนมจากขวด ซึ่งหากถามว่าทำไมเราจะต้องอุ่นนมก่อนด้วยล่ะ เทใส่ขวดแล้วให้ทารกกินเลยไม่ได้หรือ?
จริง ๆ แล้วน้ำนมที่ออกจากอกแม่เวลาที่ทารกดูดกินนั้นก็มีอุณหภูมิที่ค่อนข้างอุ่น การที่เราอุ่นนมก็จะทำให้ทารกคุ้นชินกับน้ำนมแม่จากขวดนมได้ง่ายขึ้น
มากไปกว่านั้น น้ำนมที่ถูกแช่เย็นมาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ไขมันในน้ำนมแม่จะมีการแยกชั้นและไปกองอยู่ที่ก้นถุง การอุ่นนมจะช่วยให้ไขมันส่วนนั้นกลับมารวมตัวกับน้ำนมอีกครั้ง

วิธีอุ่นนมแม่ทำอย่างไร
    วิธีอุ่นนมไม่ได้มีขั้นตอนที่ซับซ้อน สามารถทำได้ง่าย ๆ และไม่ได้ใช้เวลานาน คุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะอุ่นนมแม่ที่แช่ในตู้เย็นได้ ดังนี้

  • นำนมแม่ที่แช่ไว้ในตู้เย็น ออกมาวางพักไว้สักครู่ แต่อย่าเพิ่งเปิดฝาออก
  • ต้มน้ำให้พออุ่น โดยใช้กาต้มน้ำ หรือจะต้มน้ำในไมโครเวฟก็ได้ จากนั้นเทน้ำอุ่นลงในถ้วย หรือชามขนาดใหญ่พอจะใส่ขวดนมหรือถุงนม
  • ย้ำว่าน้ำที่ใช้อุ่นนม ควรเป็นน้ำแค่พออุ่นเท่านั้น อย่าใช้น้ำร้อน เพราะอุณหภูมิที่สูงเกินไปจะทำลายคุณค่าทางอาหารในน้ำนม
  • นำถุงนมหรือขวดนมที่วางพักไว้ใส่ลงไปในถ้วยหรือชามที่เทน้ำอุ่นไว้ก่อนหน้านี้ และยังไม่ต้องเปิดฝาออก ทิ้งไว้ 1-2 นาที หรือจนกว่านมจะอุ่นพอตามที่ต้องการ
  • ไม่ควรนำนมไปอุ่นในไมโครเวฟ เพราะความร้อนจากไมโครเวฟจะทำให้คุณค่าทางสารอาหารในน้ำนมลดลง
  • ขณะที่รออุ่นนม ให้คุณแม่ล้างมือให้สะอาด เมื่อนมมีอุณหภูมิได้ที่ตามต้องการแล้วให้เปิดฝาแล้วรินนมใส่ลงในขวดนม หรือหากมีลักษระเป็นขวดนมอยู่แล้วก็จัดการใส่จุกนมให้เรียบร้อย
    เอียงขวดนมไปมา เพื่อให้ไขมันรวมตัวเป็นเนื้อเดียวกันกับน้ำนม แค่เอียงไปมาเท่านั้น ห้ามเขย่าเด็ดขาด!
  • เมื่ออุณหภูมินมได้ที่แล้ว จึงนำไปป้อนทารก

วิธีละลายนมแม่หลังจากแช่แข็ง
      วิธีละลายน้ำนมจากช่องแช่แข็งนั้น มีอยู่ด้วยกัน 2 กรณีคือ
          กรณีที่ 1 ไม่ละลายนมทันที
          หากจะนำถุงนมหรือขวดนมที่แช่ไว้ในช่องแช่แข็งมาอุ่น ให้คุณพ่อคุณแม่เลือกเลยว่าจะใช้ถุงไหน หรือขวดไหน จะใช้กี่ถุงหรือกี่ขวด
เมื่อเลือกได้แล้วให้นำถุงนมหรือขวดนมนั้นมาแช่ในช่องแช่เย็นปกติ และแช่ทิ้งไว้หนึ่งคืนเพื่อให้น้ำนมละลาย จากนั้นก็นำนมมาอุ่นตามวิธีอุ่นนมจากตู้เย็นตามปกติ
          กรณีที่ 2 ต้องการละลายนมทันที
          ในกรณีที่ต้องการอุ่นนมจากช่องแช่แข็งทันที ก็ให้ทำตามวิธีอุ่นนมจากตู้เย็นตามปกติ แต่ที่จะต้องทำเพิ่มก็คือ จะต้องอุ่นนมนานกว่าปกติ และอาจใช้เวลาตั้งแต่ 10-15 นาทีเป็นต้นไป

ข้อควรระวัง

  • คุณแม่ควรทดสอบอุณหภูมิของน้ำนม ด้วยการหยดใส่หลังมือ โดยต้องไม่รู้สึกร้อนหรือเย็นเกินไป  เพราะนมที่ร้อนเกินไปอันตรายต่อทางเดินอาหารของลูก ตั้งแต่อาการพุพอง จนอาจกระตุ้นให้เกิดเนื้องอกในกระเพาะอาหาร  และยังทำลายเซล์เม็ดเลือดขาวในนมแม่  ส่วนนมที่เย็นเกินไป จะทำให้ลูกทารกมีภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำได้ด้วย
  • คุณแม่ควรดมกลิ่นนมสต็อกหลังจากละลายน้ำแข็ง หรืออุ่นนมแม่แล้วทุกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่านมมีลักษณะเสียหรือไม่ ซึ่งนมที่เสียจะมีรสเปรี้ยวและมีกลิ่นรุนแรงมาก
  • นมแม่ที่อุ่นจนละลายแล้ว ไม่สามารถเก็บได้นานเกิน 2-3 ชั่วโมง ในอุณหภูมิห้อง  ดังนั้นจึงควรให้ลูกกินนมจนหมด หรือเก็บต่อได้ไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง แล้วต้องทิ้งไป
  • ไม่ควรนำนมแช่แข็งที่ละลายแล้ว กลับไปแช่แข็งใหม่

อ้างอิง : https://www.enfababy.com/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้