ภาวะครรภ์เสี่ยงคืออะไร?

Last updated: 25 ต.ค. 2566  |  152 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะครรภ์เสี่ยงคืออะไร?

ภาวะตั้งครรภ์เสี่ยง คือ อะไร?
       โดยปกติแล้วการตั้งครรภ์จะถือว่า “มีความเสี่ยงสูง” ก็ต่อเมื่อการตั้งครรภ์นั้นมี “ปัจจัยเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณแม่และ/หรือลูกในครรภ์” โดยคุณหมอที่ดูแลจะคอยหาและเฝ้าระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น คุณแม่ก็สามารถช่วยคุณหมอได้โดยการแจ้งประวัติต่างๆของคุณแม่ให้ละเอียดที่สุด และแจ้งคุณหมอเมื่อรู้สึกว่าตนเองมีอาการผิดปกติ


ปัจจัยที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของภาวะตั้งครรภ์เสี่ยงได้แก่
     1. อายุของคุณแม่

          คุณแม่ที่อายุน้อยกว่า 17 ปี หรือมากกว่า 35 ปี จะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง  ในคุณแม่ที่อายุน้อย จะมีความเสี่ยงต่อภาวะต่อไปนี้ เช่น การเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด, ลูกตัวเล็ก, ความดันเลือดสูงระหว่างการตั้งครรภ์ หรือ ครรภ์เป็นพิษ, โรคซึมเศร้าหลังตั้งครรภ์ เป็นต้น ขณะที่คุณแม่ที่อายุมาก ก็จะพบความเสี่ยงที่มากกว่า เช่น การแท้ง, โรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์, ครรภ์เป็นพิษ, ความผิดปกติทางพันธุกรรมของทางรก เช่น ดาวน์ซินโดรม เป็นต้น


     2. โรคและความผิดปกติของคุณแม่ที่เกิด “ก่อน” การตั้งครรภ์

          โรคประจำตัวของคุณแม่ทุกอย่างมีผลระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็น โรคความดันเลือดสูง, โรคเบาหวาน, โรคหอบหืด, โรคตับ, โรคไต, โรคหัวใจ เป็นต้น รวมถึงโรคติดเชื้อต่างๆ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเอดส์, โรคเริม, โรคหนองใน เป็นต้น

          “ความเสี่ยงเกิดได้ทั้งสองทาง” โรคประจำตัวอาจทำให้การตั้งครรภ์แย่ลงมีภาวะแทรกซ้อน หรือ การตั้งครรภ์อาจทำให้โรคที่เป็นอยู่แย่ลงหรือควบคุมได้ยากขึ้น หากคุณแม่มีโรคประจำตัวอยู่ ควรปรึกษาทั้งคุณหมอที่ดูแลประจำและคุณหมอสูติ เพื่อประเมินว่าคุณแม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ได้ไหม ถ้าตั้งครรภ์ไปแล้วจะต้องตรวจติดตามอย่างไร จะมีผลกระทบอย่างไร และในกรณีที่คุณหมอลงความเห็นว่าคุณแม่ยังไม่ควรตั้งครรภ์ ก็ควรคุมกำเนิดให้ดีด้วยวิธีที่เหมาะสมกับโรคประจำตัวที่มีอยู่
          การตั้งครรภ์โดยที่สุขภาพของคุณแม่ยังไม่พร้อม นอกจากจะอันตรายต่อตัวคุณแม่เอง ยังอันตรายต่อลูกในครรภ์ และบางครั้งอาจต้องมีการตัดสินใจที่ยากลำบาก เช่น การยุติการตั้งครรภ์เพื่อรักษาชีวิตของคุณแม่ไว้ เพราะถ้าตั้งครรภ์ต่อคุณแม่อาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้


     3. โรคและความผิดปกติของคุณแม่ที่เกิด “ระหว่าง” การตั้งครรภ์

          ข้อนี้มักเป็นความเสี่ยงที่ถูกมองข้ามไป เนื่องจากคุณแม่ที่ไม่มีโรคประจำตัว หรือคุณแม่ที่สุขภาพแข็งแรงมักจะคิดว่าตัวเองไม่น่าเป็นอะไรระหว่างการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ใช่ทุกคน ซึ่งโรคที่พบบ่อยระหว่างการตั้งครรภ์ 2 โรค คือ “เบาหวาน” และ “ครรภ์เป็นพิษ” คุณแม่ทุกคนจะได้รับการตรวจคัดกรองเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ที่อายุมากจะมีภาวะครรภ์เสี่ยงมากขึ้นต่อทั้งโรคเบาหวานและครรภ์เป็นพิษ ซึ่งโรคหรือภาวะผิดปกติที่เกิดระหว่างการตั้งครรภ์ หลังการคลอดส่วนใหญ่ของโรคหรือภาวะผิดปกตินี้จะหายไป แต่ก็มีส่วนน้อยที่อาจยังคงอยู่และกลายเป็นโรคประจำตัวที่ติดตัวคุณแม่ไปตลอด โดยที่คุณหมอจะมีวิธีติดตามว่าโรคเหล่านี้หายไปไหมหลังการคลอด


     4. ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์

          ปัญหาที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ บางอย่างมักเป็นภาวะที่ดูเหมือนไม่น่าอันตรายหรือเป็นข่าวดีของพ่อแม่ เช่น การตั้งครรภ์แฝด หรือภาวะนั้นอาจไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ ตราบเท่าที่คุณแม่ยังไม่มีอาการผิดปกติ เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ หรือภาวะนั้นมีอันตรายแต่ผลเสียเกือบทั้งหมดไปลงที่ลูกโดยที่คุณแม่อาจไม่รู้สึกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด, รกเสื่อม, น้ำคร่ำน้อย หรือ ลูกในครรภ์มีความผิดปกติ

  • การตั้งครรภ์แฝด ยิ่งแฝดหลายคน ยิ่งเสี่ยงมาก โดยเฉพาะการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งลูกก็มักจะตัวเล็ก ต้องอยู่ตู้อบเป็นเวลานาน และมีภาวะแทรกซ้อนตามมามากมาย นอกจากนั้นยังพบโรคเบาหวาน, ครรภ์เป็นพิษ, ตกเลือดหลังคลอด เป็นต้น
  • ภาวะรกเกาะต่ำ ตำแหน่งที่รกเกาะ คือ จุดที่ลูกฝังตัว ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ารกไปเกาะใกล้หรือปิดปากมดลูก (ช่องทางที่ลูกจะออกเวลาคลอด) จะถือว่าเป็นภาวะรกเกาะต่ำ ส่วนใหญ่คุณแม่มักไม่มีอาการผิดปกติ แต่ถ้ามดลูกคุณแม่มีการแข็งตัว ไม่ว่าจะก่อนกำหนดหรือช่วงครบกำหนดคลอด จะเกิดการตกเลือดและอันตรายถึงชีวิตได้
  • การคลอดก่อนกำหนด การคลอดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ อายุครรภ์ที่คลอดยิ่งน้อย ลูกยิ่งมีภาวะแทรกซ้อนได้มาก ในคุณแม่บางคนจะมีสาเหตุซ่อนอยู่ ซึ่งคุณหมอจะทำการรักษาหรือให้การป้องกันไว้ก่อน ก็จะช่วยลดผลกระทบที่จะตามมาได้
  • ภาวะรกเสื่อม ธรรมชาติจะให้รกทำงานส่งอาหารให้ลูกจนถึงครบกำหนดคลอด แต่บางคนรกเสื่อมสภาพไปก่อน มักเกิดในคุณแม่ที่มีโรคเบาหวานหรือครรภ์เป็นพิษ ซึ่งถ้าถึงจุดที่รกไม่สามารถทำงานได้เพียงพอกับความต่องการของลูก ก็จำเป็นจะต้องให้ลูกคลอดออกมาถึงแม้จะต้องคลอดก่อนกำหนดก็ตาม
  • ภาวะน้ำคร่ำน้อย มักเกิดร่วมกับภาวะรกเสื่อม ทำให้น้ำคร่ำที่อยู่รอบตัวลูกลดลง ลูกไม่มีพื้นที่ที่จะขยับตัวและทำให้สายสะดือที่อยู่รอบตัวลูกถูกกดทับ ทำให้อาหารและออกซิเจนที่ส่งจากรกผ่านทางสายสะดือไปยังลูกลดลง และอาจทำให้ลูกเสียชีวิตได้
  • ภาวะผิดปกติของลูก มีได้ทั้งความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม หรือความพิการทางร่างกาย ซึ่งคุณแม่ทุกคนจะได้รับคำแนะนำให้เจาะเลือดตรวจคัดกรองความเสี่ยงดาวน์ซินโดรม หรือเจาะน้ำคร่ำตรวจถ้ามีข้อบ่งชี้ นอกจากนั้นการตรวจอัลตร้าซาวด์อย่างละเอียด (Anomaly Scan) ยังช่วยประเมินความพิการในทารก ซึ่งโดยทั่วไปมีโอกาสพบได้มากถึง 2-3 % ในคุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งหมด


การป้องกันและการรักษาภาวะแทรกซ้อน
         แม้คุณแม่จะดูสุขภาพดีไม่มีโรคประจำตัว คุณหมอมักจะแนะนำให้คุณแม่ที่เตรียมพร้อมจะตั้งครรภ์ มาปรึกษาก่อนการมีบุตร เพื่อตรวจสุขภาพอย่างละเอียด ทั้งการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจเลือด เพื่อให้มั่นใจว่าคุณแม่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย


ที่มา : https://www.phyathai.com/th/article/2960-%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้