วิธีเลี้ยงลูกให้เป็นคนคิดบวก

Last updated: 3 พ.ย. 2565  |  595 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วิธีเลี้ยงลูกให้เป็นคนคิดบวก

9 วิธีเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กคิดบวก

ความคิดเชิงบวก หรือ Positive Thinking มีความสำคัญกับชีวิต เพราะเด็กจะคิดเชิงบวกได้ต้องเอาชนะกับอารมณ์และความคิดเชิงลบที่ตนเองมีอยู่ให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องปลูกฝัง เพราะถ้าเด็กๆ มีความคิดเชิงบวก ก็จะทำให้อารมณ์และพฤติกรรมเป็นไปในทางบวกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อตนเอง คนรอบข้าง ครอบครัวและสังคมจากการลงมือปฏิบัติตามความคิดนั้น

พ่อแม่สามารถปลูกฝังลูกให้มีความคิดเชิงบวกได้ดังนี้

1. สร้างครอบครัวให้อบอุ่น เมื่อพ่อแม่ให้เวลากับลูกอย่างเต็มที่ พร้อมเสมอที่จะโอบอุ้มและดูแลลูก ตอบสนองลูกอย่างถูกต้องและเพียงพอ โดยสามารถปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ได้ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในวัยขวบแรก ซึ่งเป็นวัยที่ต้องปูพื้นฐานเรื่องความมั่นคงทางอารมณ์ ความรู้สึกว่าตนเองมีค่า มีความปลอดภัยในชีวิต


2. เล่นกับลูก ไม่ว่าจะเป็นลูกวัยไหน การที่พ่อแม่เข้าไปเล่นกับลูก จะเป็นการแสดงออกถึงความคิดบวกต่อการเล่นของลูก เพราะสีหน้าท่าทาง น้ำเสียงของพ่อแม่เวลาที่เล่นกับลูกจะเป็นบวก ทำให้ลูกรู้สึกได้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มีค่าและได้รับความสนใจจากพ่อแม่

3. สอนบนพื้นฐานของความจริง คือ พยายามเน้นให้ลูกได้เห็นสภาพความเป็นจริง ถ้าใส่ความคิดที่เป็นบวกได้ ก็ใส่ไปด้วย แต่ต้องไม่ใช่การคิดบวกแบบโอเวอร์หรือไม่ใช่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เพราะถ้าคิดบวกแบบเกินจากข้อเท็จจริงก็มีโอกาสที่จะผิดหวัง และมีโอกาสที่จะแย่กว่าเดิมก็ได้

4. ให้ความรักในแบบที่ถูกต้อง ไม่ใช่การเลี้ยงดูด้วยเงินหรือเลี้ยงแบบตามใจ แต่ต้องฝึกให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการชี้แนะของพ่อแม่ ให้ลูกได้เรียน รู้ถึงความผิดหวัง ในวันที่ยังมีพ่อแม่คอยชี้แนะ สอนให้ลูกเรียนรู้ที่จะสร้างกำลังใจให้ตนเอง สร้างกำลังใจให้ผู้อื่น

5. ฝึกให้ช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น โดยต้องมีความอดทน ขยัน มุ่งมั่น ไม่ย่อท้อกับอุปสรรค ตั้งแต่เล็กๆ ผ่านการซึบซับไปทีละเล็กทีละน้อย ตอนเล็กๆ อาจเริ่มสอนจากนิทานสำหรับเด็ก กระตุ้นให้ลูกเห็นคุณค่าในตัวเอง เช่น ฝึกให้ช่วยเหลือตัวเอง ชวนมาทำงานบ้านง่ายๆ ด้วยกัน เพื่อให้ลูกรู้ว่าเขาสามารถทำได้

6. พยายามเต็มที่ & รู้จักปล่อยวาง สอนให้ลูกพยายามทำสิ่งต่างๆ อย่างเต็มที่ และถ้าตั้งใจทำก็จะทำสำเร็จ แต่อยู่บนพื้นฐานของการทำเท่าที่จะทำได้ตามความสามารถของลูก เพื่อเป็นการไม่กดดันลูกและไม่ให้ลูกรู้สึกเครียด

7. สอนให้เข้าใจคนอื่น เช่น ลูกวัยอนุบาลโดนเพื่อนแกล้ง ก็บอกลูกว่าเพื่อนอาจจะยังเด็กอยู่ยังไม่รู้เรื่อง หรือเพื่อนอาจจะไม่ได้ตั้งใจ หนูโตแล้วเข้าใจแล้วว่าเพื่อนกันต้องรักกัน ไม่แกล้งกัน ไม่ต้องโกรธเพื่อน

8. ไม่หนีปัญหา ให้ลูกได้เจอปัญหาและฝึกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่คอยชี้แนะและสอนให้เข้าใจว่าทุกคนล้วนต้องเจอปัญหาทั้งนั้น แต่เราต้องอดทนและหาทางแก้ไขปัญหา ให้ลูกมองปัญหาเป็นเรื่องปกติ ที่จะต้องหาทางแก้ไข แล้วลุกขึ้นสู้ เช่น ยกตัวอย่างปัญหาที่พ่อแม่เจอ เพื่อให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง ว่าเวลามีปัญหาพ่อแม่ก็ต้องแก้ไขโดยไม่ย่อท้อเหมือนกัน เป็นต้น

9. ใช้คำพูดดีๆ พ่อแม่ต้องเป็นผู้ให้พรอันประเสริฐกับลูก ทุกคำที่พูดกับลูกต้องเป็นมงคลแก่ชีวิตลูก โดยเฉพาะการให้กำลังใจและให้ความคิดเชิงบวก เช่น “ลูกต้องทำได้” หรือ ”พ่อกับแม่เชื่อว่าถ้าลูกตั้งใจทำ อะไรก็สบายอยู่แล้ว” เป็นต้น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้