Last updated: 8 ก.พ. 2566 | 1048 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคซางในเด็กเล็ก คืออะไร รู้ทันป้องกันได้
โรคซางในเด็ก มักเกิดจากความเข้าใจผิดของผู้ใหญ่ที่มีความเข้าใจว่า หากเด็กมีอาการเป็นไข้ ไม่สบาย มักจะถูกเรียกว่าโรคซางอยู่เสมอ แต่จริง ๆ แล้วก็คือโรคขาดสารอาหารที่เกิดขึ้นภายในเด็ก ที่ทำให้เด็กมีกล้ามเนื้อลีบเล็ก และเลี้ยงไม่โต มีรูปร่างผอมบางกว่าเด็กในวัยเดียวกันอยู่มาก โดยมักจะเกิดจากการที่เด็กทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ ไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ โดยมีสาเหตุจากการเบื่ออาหาร หรือการที่คุณแม่เลือกอาหารให้ลูกไม่ถูกลักษณะ
ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันเบื้องต้นสำหรับคุณแม่ เราจึงได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นไว้สังเกตอาการและป้องกันการสับสนระหว่างเด็กที่เป็นโรคซาง ซึ่งหากมีการสังเกตและรู้สาเหตุ ก็จะทำให้คุณแม่สามารถรับมือกับโรคซางของลูก และรู้เท่าทันโรคแทรกซ้อน เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นกับลูกน้อยได้
นิยามที่ถูกต้องของโรคซาง
“ซาง” หมายถึงโรคที่เกิดขึ้นในเด็ก มันจึงถูกเหมารวมเรียกทุกโรคที่เกิดขึ้นในวัยเด็กว่าซางทั้งหมด ซึ่งอย่างที่บอกในตอนต้น ว่าจริง ๆ แล้ว โรคซาง ก็คือ โรคขาดสารอาหาร ที่ทำให้เด็กมีลักษณะพุงโรก้นปอด ซึ่งมีส่วนมาจากพยาธิในลำไส้ โดยตำราในอดีตอย่างแพทย์แผนโบราณ มีการพูดถึงโรคนี้ไว้ว่า เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้เฉพาะในวัยเด็ก เมื่อเด็กไม่ยอมทานข้าว ไม่ยอมกินนม มีอาการปวดหัวตัวร้อน มีเหงื่อออกมาก จึงต้องใช้ยาแผนโบราณที่มีชื่อว่า “ยาซาง” ในการรักษาโรคนี้นั่นเอง
อาการของโรคซาง เป็นอย่างไร
สิ่งที่คุณแม่จะสามารถสังเกตอาการของลูกน้อยได้ เมื่อลูกเป็นโรคซาง โดยจะแสดงลักษณะของอาการ ดังต่อไปนี้
เด็กไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากเกิดการเบื่ออาหาร หรือ มีปัญหาในด้านการดูดซึม ระบบย่อยอาหารอาจมีการบกพร่อง
ในเวลานอน จะพบว่าเด็กมีอาการนอนหลับไม่สนิท หรือ มีอาการผวา สะดุ้งตื่นตลอดทั้งคืน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเด็กในช่วงเวลากลางวัน โดยจะแสดงอาการอารมณ์เสีย หงุดหงิด และเอาแต่ใจ
มีเม็ดซางขึ้นภายในช่องปาก ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับตุ่มร้อนใน ลิ้นเป็นฝ้า รวมถึงมีผดผื่นขึ้นตามตัวร่วมด้วย
มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในช่องท้อง ลักษณะเหมือนท้องป่อง
เด็กที่มีอาการรุนแรง จะสามารถสังเกตได้ง่าย โดยมีพฤติกรรมที่ทานอาหารได้ไม่เยอะ ลักษณะร่างกาย แขนขาลีบ และหน้าตาเหมือนกับอดหลับอดนอน เนื่องจากมีอาการที่หลับไม่สนิท
สาเหตุของโรคซางเกิดจากอะไร
สาเหตุที่โรคซางมักจะเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก เนื่องจากเด็กมีพฤติกรรมในการเลือกกิน ไม่ชอบรับประทานของที่มีประโยชน์ เพราะรู้สึกว่าทานยาก และมักจะเป็นสาเหตุหลัก ๆ ของโรคในวัยเด็ก ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดจาก ข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้
ผู้ปกครอง คุณพ่อ คุณแม่ ไม่มีความรู้ หรือขาดความเข้าใจในเรื่องของอาหารการกิน ทำให้เด็กได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ
ขาดความเอาใจใส่เรื่องอาหารการกิน ใส่ใจเฉพาะในเรื่องของการอิ่มท้อง โดยไม่คำนึงถึงอาหารที่มีประโยชน์ที่เด็กควรจะได้รับ
และเมื่อเด็กมีอาการเจ็บป่วย จากการที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ก็จะทำให้เด็กมีภาวะเบื่ออาหาร จนทำให้ได้รับอาหารที่น้อยลงตามไปด้วย
วิธีดูแลและป้องกันลูกน้อยจากโรคซาง
น้ำนมแม่
เด็กในวัยแรกเกิดสมควรได้รับสารอาหารจากน้ำนมของแม่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน เพราะน้ำนมของแม่เป็นแหล่งอาหารที่เหมาะสมและมีคุณค่าทางอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย
ฝึกพฤติกรรมการกิน
ให้ลูกรู้จักที่จะทานอาหารให้เป็นเวลา และหลีกเลี่ยงการให้ลูกทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เพราะจะส่งผลให้ลูกติดพฤติกรรมแบบนี้ และไม่ยอมทานอาหารที่มีประโยชน์ในมื้อหลัก
อาหารเสริมตามช่วงวัย
เด็กในวัยที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน ควรได้รับอาหารเสริมทีละน้อย เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางสารอาหารให้กับเด็ก และทำให้ร่างกายมีการเติบโตที่ดีขึ้น โดยในขั้นตอนนี้หากเป็นวิตามินเสริม ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ หรือขอคำแนะนำจากแพทย์ร่วมด้วย
คำนวณสารอาหาร
สำหรับเด็กที่คุณแม่เริ่มสงสัยเกี่ยวกับอาการของโรคซาง สามารถคำนวณสารอาหาร และแบ่งสัดส่วนเกี่ยวกับโภชนาการที่จะให้ลูกน้อยได้ อย่างเช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เพื่อให้ลูกน้อย สามารถได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเหมาะสมกับร่างกาย
ถ่ายพยาธิ
ในขั้นตอนนี้ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำ ก่อนการปฏิบัติ เพื่อป้องกันข้อผิดพลาด และสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
ผลกระทบที่เกิดจากโรคซาง
ผลกระทบที่ทำให้เกิดผลเสียขึ้นกับร่างกายของเด็กมากที่สุด นั่นก็คือ เด็กจะมีร่างกายที่ผอมแห้งมาก ซึ่งในปัจจุบันจะสามารถสังเกตได้ทันที ซึ่งลักษณะร่างกายของเด็กแบบนี้ ส่งผลให้ร่างกายไม่แข็งแรง กล้ามเนื้อแขนขาลีบ อาจทำให้การเดินและการวิ่งมีการหกล้มได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลเสียต่อระบบขับถ่าย ระบบหายใจ และทำให้ร่างกายของเด็กมีพัฒนาการที่ช้าลง เนื่องจากขาดสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างเป็นจำนวนมาก
เพราะเข้าใจได้ว่าคุณแม่ มีความเป็นห่วงและต้องการให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรง และเติบโตขึ้นไปด้วยพัฒนาการทางร่างกายอย่างเต็มที่ ซึ่งแน่นอนว่าหากคุณแม่มีวิธีการดูแลลูกน้อยอย่างถูกวิธีและมีความเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้เด็กสามารถปลอดภัยจากโรคซางและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้รวมถึงความรู้ความเข้าใจในโรคร้ายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ก็จะช่วยให้คุณแม่สามารถช่วยให้ลูกน้อยเติบโตขึ้นไปด้วยสุขภาพที่แข็งแรงไม่มีโรคร้ายมากวนใจ
ขอบคุณ momandbaby
1 มิ.ย. 2567
1 มิ.ย. 2567
6 มิ.ย. 2567
6 มิ.ย. 2567