การเตรียมตัวตั้งครรภ์ของคุณแม่ยุคดิจิตอล
เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ เริ่มทำได้ตั้งแต่เมื่อไหร่?
สำหรับใครที่อยากมีลูกการเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนที่จะมีเจ้าตัวน้อยจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างน้อย ๆ ก็ต้องมีเวลา ซัก 3 เดือน สำหรับเตรียมร่างกายของคุณแม่ให้พร้อม เพื่อให้การตั้งครรภ์มีความเสี่ยงน้อยที่สุดทั้งกับตัวคุณแม่เองและเจ้าตัวน้อย
วิธีเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์
1. งดบุหรี่และแอลกอฮอล์
ใครอยากมีลูกจำเป็นต้องรู้ว่านอกจากบุหรี่และแอลกอฮอล์ นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพว่าที่คุณแม่แล้ว ยังมีผลเสียต่อพัฒนาการ และ เพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้ระบบหัวใจของทารกมีปัญหามากขึ้น ที่สำคัญยังเป็นความเสี่ยงของการแท้งหรือการตั้งครรภ์นอกมดลูกอีกด้วย
ดังนั้นหากตัดสินใจแล้วว่าอยากมีลูก ควรเลิกสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ อย่าลืมชวนว่าที่คุณพ่อร่วมมือลดละเลิกไปพร้อมๆ กัน
2. อาหาร และการออกกำลังกาย
การเตรียมตัวตั้งครรภ์ของว่าที่คุณแม่อยากมีลูกควรเริ่มต้นจากการรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง
- งดดื่มกาแฟ
เลือกรับประทานอาหารที่หลากหลาย โดยเฉพาะผักและผลไม้หลากสีสัน เพราะในผักและผลไม้บางชนิด เช่น ผักใบเขียว ถั่วเลนทิล กระเจี๊ยบมอญต้ม ข้าวโพด ส้ม และกล้วย มีกรดโฟลิกสูง ซึ่งกรดโฟลิกช่วยป้องกันทารกจากโรคกระดูกไขสันหลังผิดปกติ ทานอาหารประเภทแป้งที่ดี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลเกรน ให้เพียงพอ รวมถึงทานโปรตีนทุกมื้อ โดยจากปลา และนมธัญพืช และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ ของการเตรียมตัวตั้งครรภ์หากใครอยากมีลูกคือการเริ่มต้นออกกำลังกาย รวมถึงพยายามทำใจให้สบายและเครียดให้น้อยที่สุด
3. สำรวจยาประจำตัว
ยาบางชนิดอาจลดโอกาสการตั้งครรภ์ และอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นว่าที่คุณแม่ที่อยากมีลูกควรนำยาที่รับประทานประจำไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับคำแนะนำหากจำเป็นต้องใช้ยา
4. ปรับสิ่งแวดล้อม
ลองตรวจดูสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวว่ามีสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ เช่น ยาฆ่าแมลง ใยแก้ว สารตะกั่ว รังสี รวมถึงหากเลี้ยงแมว ควรบอกแพทย์ให้เจาะเลือดตรวจหาภูมิต่อเชื้อท็อกโซพลาสมา (Toxoplasma) ปรสิตในอุจจาระแมว ซึ่งอาจนำโรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) ตัวการทำให้เด็กมีความพิการแต่กำเนิดได้ หากว่าที่คุณแม่ที่อยากมีลูกไม่มีภูมิคุ้มกัน ควรสวมถุงมือและหน้ากากทุกครั้งเมื่อต้องสัมผัสแมว
5. สำรวจสถานที่ฝากครรภ์
ใครที่อยากมีลูกการตระเวนดูโรงพยาบาลสำหรับฝากครรภ์ไว้หลายๆ แห่งเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อค้นหาสถานที่เหมาะสมและดีที่สุดกับตัวคุณแม่และลูกน้อย จะเลือกจากความสะดวกทั้งสถานที่ การเดินทางและค่าใช้จ่าย หรือจะเลือกจากสูติแพทย์และกุมารแพทย์ที่ไว้วางใจก็ได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละคน
6. ฉีดวัคซีน
อีกเรื่องที่ว่าที่คุณแม่ที่อยากมีลูกและกำลังเตรียมตัวตั้งครรภ์ทั้งหลายไม่ควรละเลย คือเรื่องของวัคซีน ต้องศึกษาดูว่ามีวัคซีนตัวใดที่ควรได้รับหรือหลีกเลี่ยงทั้งก่อนการตั้งครรภ์และระหว่างการตั้งครรภ์ วัคซีนไม่ได้มีความจำเป็นสำหรับเด็กๆ เท่านั้น แต่ยังมีความจำเป็นสำหรับผู้ใหญ่ด้วย เพราะผู้ใหญ่ที่มีการติดเชื้อจะเกิดโรคที่รุนแรง และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า ซึ่งวัคซีนที่ว่าที่คุณแม่ควรได้รับมีดังนี้
– วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม และอีสุกอีใส วัคซีนชนิดนี้มีความสำคัญมากต่อผู้หญิงที่อยากมีลูกและเตรียมตัวจะตั้งครรภ์ และควรได้รับวัคซีนนี้ก่อนตั้งครรภ์ 3 เดือน
– วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
– วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก
– วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
– วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เอ บี
7. การตรวจโรคทางพันธุกรรม
เรื่องสำคัญรองจากการนับวันไข่ตกแล้วการตรวจโรคทางพันธุกรรมถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการเตรียมตัวตั้งครรภ์สำหรับคนอยากมีลูก หากในครอบครัวของว่าที่คุณแม่หรือคุณพ่อมีประวัติว่ามีคนเป็นโรคติดต่อทางพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคฮีโมฟีเลีย โรคเบาหวาน ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจทางพันธุกรรมโดยเฉพาะ เพื่อดูว่าตัวเองเป็นโรคติดต่อพันธุกรรมใดๆ หรือเป็นพาหะของโรคหรือไม่
1 มิ.ย. 2567
6 มิ.ย. 2567
1 มิ.ย. 2567
6 มิ.ย. 2567