ปัญหาสุขภาพของทารกแรกเกิดที่พบได้บ่อย

Last updated: 11 ก.ค. 2566  |  189 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปัญหาสุขภาพของทารกแรกเกิดที่พบได้บ่อย

ปัญหาสุขภาพของทารกแรกเกิดที่พบได้บ่อย


1. แหวะนม
       เป็นภาวะปกติที่พบได้บ่อย เกิดเนื่องจากหูรูดกระเพาะอาหารยังไม่แข็งแรง ทำให้นมไหลย้อนขึ้นมา แก้ไขได้ด้วยการจัดให้นอนศีรษะสูงประมาณ 30 องศาหลังทานนมนาน 15 - 30 นาที หรือให้ทานนมครั้งละน้อย อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆภายในขวบปีแรก แต่ถ้ามีอาการอาเจียนพุ่ง มีน้ำดีหรือเลือดปน น้ำหนักไม่ขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์

2. ร้องโคลิก
     คือการที่เด็กทารกร้องเป็นช่วงเวลา ร้องเสียงดังนานต่อเนื่อง 2-3 ชั่วโมง มักเริ่มต้นช่วงอายุประมาณ2-4 สัปดาห์ และจะค่อยๆดีขึ้นช่วงอายุ 3-4 เดือน โดยที่ลูกจะยังมีอาการทั่วไปปกติ ทานนมได้ดี น้ำหนักขึ้นดี การรักษาจึงใช้การปลอบด้วยวิธีต่างๆ เช่น อุ้ม โยกเบาๆ นั่งรถเข็น และถ้ามีอาการท้องอืดอาจให้ยาขับลมร่วมด้วย

3. ผื่นชนิดต่างๆ
     ผดร้อน เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ เห็นเป็นตุ่มใสเล็กๆบริเวณหน้าผาก คอ หลัง ข้อพับ ผื่นผดร้อนจะหายได้เอง วิธีป้องกันคือไม่สวมใส่เสื้อผ้าหนาหรือห่อผ้าหนาจนเกินไป ผื่นผ้าอ้อม เป็นผื่นแดงบริเวณอวัยวะเพศ ต้นขา ก้น ท้องน้อย เกิดจากความเปียกชื้นและระคายเคืองจากการสัมผัสปัสสาวะและอุจจาระวิธีป้องกัน คือ ดูแลให้ผิวแห้งอยู่เสมอ เปลี่ยนผ้าอ้อมเมื่อเปียกชื้น หรือมีอุจจาระ และทาครีมกันผื่นผ้าอ้อม ผื่นผิวหนังอักเสบของต่อมไขมัน 
4. ท่อน้ำตาตัน
     ลูกจะมีอาการมีน้ำตาคลอเกือบตลอดเวลา อาจเป็นข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้ เกิดจากมีเยื่อบางๆปิดกั้นทางเดินน้ำตาที่จะไหลลงสู่โพรงจมูก ทำให้น้ำตาค้างอยู่ไม่สามารถไหลลงไปได้ โดยทั่วไปท่อน้ำตาจะเปิดได้เองภายในขวบปีแรก วิธีแก้ไข อาจใช้นิ้วก้อยนวดบริเวณหัวตาข้างจมูกเพื่อช่วยเปิดท่อน้ำตา แต่ถ้ามีภาวะแทรกซ้อน ตาแดง หรือหัวตาแดงอักเสบควรรีบไปพบแพทย์

5. สะดืออักเสบ
     หลังคลอดคุณแม่ควรเช็ดทำความสะอาดสะดือด้วย 70% แอลกอฮอล์ หรือ triple dye วันละ2 ครั้ง และต้องคอยดูแลสะดือให้แห้งอยู่เสมอ สะดือจะหลุดได้เองเมื่อทารกอายุ 2-3 สัปดาห์ แต่ถ้าผิวหนังรอบสะดือ บวมแดง สะดือมีกลิ่นเหม็นมีหนอง ควรรีบไปพบแพทย์

6. แผลบีซีจี
     ทารกแรกเกิดทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนบีซีจีใต้ผิวหนัง โดยในช่วงแรกจะไม่เห็นรอยใดๆ ต่อหลังจากนั้น 2-4 สัปดาห์ จะเริ่มเห็นเป็นตุ่มนูนแดงบางครั้งเป็นตุ่มหนอง จากนั้นจะค่อยๆแห้งกลายเป็นแผลเป็นได้เอง คุณแม่สามารถให้การดูแลทำความสะอาดแผลบีซีจีได้ตามปกติ ถ้าตุ่มหนองใหญ่ หรือมีก้อนต่อมน้ำเหลืองโตขึ้นใกล้บริเวณที่ฉีดควรปรึกษาแพทย์

อ้างอิง : https://www.samitivejhospitals.com/


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้